ทำความรู้จักพร้อมเจาะลึกหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย
และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ (คปอ.)
ที่ผ่านมา อิมแพ็คมีการตรวจประเมินและจัดอบรมด้านความปลอดภัยในหลายด้านเป็นประจำและต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการฝึกอบรมหลักสูตร "ความปลอดภัยในการทำงาน 6 ชั่วโมง" แก่พนักงานใหม่ การอบรมหลักสูตรดับเพลิงขั้นต้น และการซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟประจำปี
โดยนอกจากวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องตามหลักกฏหมายแล้ว การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยยังเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันด้านความปลอดภัยให้แก่พนักงานทุกคนให้รู้และจดจำหลักการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ถูกต้อง แต่เพื่อให้การดำเนินงานด้านความปลอดภัยเป็นระบบและมีนโยบายการปฏิบัติที่ชัดเจน
อิมแพ็คจึงได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ (คปอ.)” ขึ้น ซึ่งวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักคณะกรรมการ คปอ. ของอิมแพ็คกันค่ะ
คณะกรรมการ คปอ. คือใคร?
คณะกรรมการ คปอ. คือ กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ผลักดันด้านความปลอดภัยในการทำงานขององค์กรให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี โดยมีตัวแทนทั้งฝ่ายของลูกจ้างและนายจ้างร่วมกัน
ทำไมต้องมีคณะกรรมการ คปอ.?
เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่าปกติตามหลักกฏหมายแล้ว ในทุกสถานประกอบการจะต้องมี “คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ (คปอ.)” ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสำหรับอิมแพ็คจัดอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 500 คนขึ้นไป จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการฯ ไม่ต่ำกว่า 11 คน
ซึ่งปัจจุบันอิมแพ็คมีประกาศแต่งตั้งคณะทำงาน คปอ. เรียบร้อยแล้ว จำนวน 15 คน ประกอบด้วยตัวแทนทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างจากฝ่ายต่างๆ ในบริษัทฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในการทำงานของบริษัท โดยคณะทำงานฯ จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ซึ่งปัจจุบันมีคุณวัชระ จันทระโสภา เป็นผู้แทนนายจ้างระดับบริหาร และเป็นประธานของคณะกรรมการ คปอ.
คณะกรรมการ คปอ. ต้องทำหน้าที่อย่างไรบ้าง?
นอกจากภารกิจการประชุมเรื่องความปลอดภัยประจำเดือนแล้ว คณะกรรมการ คปอ. ยังมีการดำเนินการเชิงรุกโดยลงพื้นที่ตรวจความปลอดภัยของพื้นที่ทำงานรอบพื้นที่อิมแพ็ค ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับพนักงาน คณะกรรมการ คปอ. จะร่วมสอบสวนหาสาเหตุ เพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุซ้ำต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นการปฏิบัติให้สอดคล้องตามมาตรฐานระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย สำหรับการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ (TIS 22300) นั่นเอง